อินเดียพร้อมจะส่งคนไปอวกาศหรือยัง?

Geosynchronous Satellite Launch Vehicle Mark III" หรือ GSLV Mk-III เคยถูกส่งขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จเมื่อปี 2017

หลังจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ประกาศจะส่งยานอวกาศที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์ให้สำเร็จภายในปี 2022 นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ พาลาวา บากลา ตั้งคำถามว่า องค์การสำรวจอวกาศของอินเดียจะทำภารกิจอันแสนท้าทายนี้สำเร็จหรือไม่

นักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การสำรวจอวกาศอินเดีย (Isro) คาดว่าต้องใช้งบประมาณราว 1.01 พันล้านปอนด์ เพื่อทำตามนโยบายของนายโมดีได้สำเร็จภายใน 40 เดือน

โดยตั้งเป้าหมายจะใช้จรวด "Geosynchronous Satellite Launch Vehicle Mark III" หรือ GSLV Mk-III หนัก 640 ตัน และยาว 43 เมตร ซึ่งเป็นจรวดที่มีน้ำหนักมากที่สุด และเคยถูกส่งขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จเมื่อปี 2017 เดินทางขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า จรวดลำนี้บรรทุกน้ำหนักได้ 10 ตัน สามารถโคจรที่วงโคจรต่ำไม่เกิน 2,000 กม. จากพื้นโลก ซึ่งถือว่าเพียงพอที่จะส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังห้วงอวกาศได้ และเมื่อปรับปรุงฐานปล่อยจรวดซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวเบงกอล ก็จะดำเนินการได้ทันที

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อินเดียประสบความสำเร็จในการปล่อยยานพาหนะทดลองขึ้นสู่ห้วงอวกาศ โดยบรรทุกหุ่นแทนที่จะเป็นนักอวกาศจริง ๆ เพื่อศึกษาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากประสบปัญหาในการปล่อยจรวจจากฐาน

นักวิทยาศาสตร์อินเดียยังได้พัฒนาซิลิคอนน้ำหนักเบาที่ป้องกันการเผาไหม้ได้ เพื่อนำไปใช้เคลือบผิวด้านนอกของยานอวกาศที่จะต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ขณะเดินทางกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก นอกจากนี้ยังพัฒนาชุดนักบินอวกาศของตัวเองเรียบร้อยแล้ว แต่ความท้าทายที่สุดของภารกิจนี้อยู่ที่การฝึกฝนนักบินอวกาศ และสร้างระบบที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตรอดอยู่ในอวกาศได้
"โครงการส่งนักบินอวกาศจะไม่เพียงส่งเสริมความภาคภูมิใจในชาติ แต่จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจอาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น" เค สิวัน ประธานองค์การสำรวจอวกาศอินเดีย และนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดชื่อดัง บอก เขาเห็นว่าหากอินเดียยังฝึกนักบินอวกาศเองไม่ได้ ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์การสำรวจอวกาศที่อื่น ๆ ได้ เพื่อให้ฝึกได้ทันเวลา

ราเกช ชาร์มา นักบินอวกาศคนแรกของอินเดีย ซึ่งเดินทางไปกับยานอวกาศของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1984 บอกว่า การส่งยานอวกาศที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์เป็นก้าวต่อไปสำหรับทุก ๆ องค์การสำรวจอวกาศที่เริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น และหากสำเร็จ อินเดียจะเป็นประเทศที่ 4 ตามหลังรัสเซีย สหรัฐฯ และจีน

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศอาวุโสอย่าง วี สิทธัตถะ บอกว่า การส่งคนไปอวกาศเป็นความคิดที่งี่เง่าสิ้นดี โดยเฉพาะในยุคที่สามารถส่งหุ่นยนต์ไปแทนได้ และทำหลาย ๆ อย่างที่มนุษย์ทำโดยไม่ต้องมีความเสี่ยง

แต่ ดร.สิวัน เห็นว่า มีภารกิจหลายอย่างที่มีมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ เขายังบอกต่ออีกด้วยว่า หากวันหนึ่งมนุษย์จะต้องย้ายไปตั้งถิ่นฐานในอวกาศ อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้อย่างไร

ที่ผ่านมา องค์การสำรวจอวกาศอินเดียทำภารกิจที่ท้าทายสำเร็จมาตลอด เมื่อปี 2014 อินเดียสามารถส่งยานสำรวจอวกาศเข้าสู่วงโคจรดาวอังคารได้สำเร็จ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่ 4 โดยใช้เงิน 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนำว่าถูกมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของประเทศตะวันตก

ย้อนไปในปี 2009 อินเดียส่งยานสำรวจจันทรายาน 1 (Chandrayaan-1) ขึ้นปฏิบัติภารกิจสำรวจหาน้ำบนดวงจันทร์อย่างละเอียดที่สุดเป็นครั้งแรก โดยใช้เรดาร์

และในปี 2017 อินเดียสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการส่งดาวเทียม 104 ดวงขึ้นโคจรสำเร็จจากภารกิจครั้งเดียว แซงหน้ารัสเซียที่ส่งดาวเทียม 37 ดวงในปี 2014

"ความล้มเหลวไม่ใช่ทางเลือกของเรา" ดร.สิวัน กล่าว "องค์การสำรวจอวกาศอินเดียจะรับความท้าทายนี้ และจะทำให้แน่ใจว่าคนอินเดียเดินทางไปอวกาศได้สำเร็จภายในปี 2022"
องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจยิงจรวดปล่อยดาวเทียมพร้อมกัน 104 ดวง เมื่อปี 2017

อินเดียพร้อมจะส่งคนไปอวกาศหรือยัง? อินเดียพร้อมจะส่งคนไปอวกาศหรือยัง? Reviewed by Phet on กันยายน 01, 2561 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ ส่งภาพแรกจากดาวอังคาร ลุยภารกิจค้นหาสิ่งมีชีวิต

  นาซาเฮ ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ ส่งภาพแรกจากดาวอังคาร หลังลงจอดได้อย่างปลอดภัย ในการปฏิบัติภารกิจค้นหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงดวงน...

ขับเคลื่อนโดย Blogger.